กลุ่มครูและแม่คนไทยในรัฐเฮสเซิน โดยคุณครูเบญเชิญชวนผู้ปกครองเยาวชนไทยในรัฐเฮสเซินร่วมสนับสนุนให้สำนักงานด้านการศึกษารัฐเฮสเซินนำภาษาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาแม่หรือภาษาถิ่นกำเนิด (Herkunftssprache)

สำนักงานด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรมรัฐเฮสเซิน (Schulamt, Hessisches Kultusministerium) ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาแม่หรือภาษาถิ่นกำเนิด (Herkunftssprache) สำหรับนักเรียนที่มีบิดาและ/หรือมารดาเป็นบุคคลต่างเชื้อชาติมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการบรรจุการเรียนการสอนภาษาไทยเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรฯ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มครูและแม่คนไทยในรัฐเฮสเซิน โดยคุณครูเบญ จึงต้องการผลักดันเยาวชนที่มีมารดาและ/หรือบิดาชาวไทยที่มีถิ่นพำนักและเรียนอยู่ในโรงเรียนระดับชั้น Klasse 1 -10 ในรัฐเฮสเซิน ได้มีโอกาสเรียนพูด อ่าน และเขียนภาษาไทย โดยได้รับการรับรองจากสำนักงานด้านการศึกษาและบรรจุอยู่ในหลักสูตรฯ ของรัฐเฮสเซิน
ในการนี้ เพื่อสนับสนุนให้มีการเพิ่มการเรียนการสอนภาษาไทยเข้าไปในหลักสูตรฯ กลุ่มครูและแม่คนไทยในรัฐเฮสเซินจึงขอเชิญชวนผู้ปกครองชาวไทยที่ประสงค์จะส่งบุตรหลานเรียนวิชาภาษาไทยได้กรุณากรอกข้อมูล อาทิ ชื่อ ที่อยู่ของผู้ปกครองและบุตร ตลอดจนโรงเรียนและระดับชั้นเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ ลงในแบบฟอร์มที่แนบมานี้ และเมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ท่านสามารถถ่ายรูปหรือสแกนแบบฟอร์มเพื่อส่งมายังกลุ่มครูและแม่คนไทยในรัฐเฮสเซิน (benjama@casytec.de) ทั้งนี้ หากผู้ปกครองร่วมใจกันแสดงความประสงค์สมัครเรียนภาษาไทยเป็นจำนวนมากพอ โอกาสที่รัฐเฮสเซินและสำนักงานด้านการศึกษา (Schulamt) จะจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนไทยและลูกครึ่งไทยจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง เมื่อบุตรหลานของท่านได้เรียนภาษาไทยแล้ว โรงเรียนจะบันทึกผลการเรียนลงในสมุดพก (Schulzeugnis) เพื่อแสดงว่าบุตรหลานของท่านมีความสามารถพิเศษทางภาษาโดยเฉพาะอีกด้วย
หากท่านมีข้อสงสัยหรือประสงค์จะรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาสอบถามรายละเอียดได้จากกลุ่มครูและแม่คนไทยในรัฐเฮสเซิน หมายเลขโทรศัพท์ 0178-4376317 หรือ Email: benjama@casytec.de โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้มีการบรรจุภาษาไทยในหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาแม่หรือภาษาถิ่นกำเนิดจะบรรลุวัตถุประสงค์ในเบื้องต้นอันได้แก่
– เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความสามารถในการพูดได้หลายภาษา
– เพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถบูรณาการชีวิตเข้ากับสังคม/ชุมชนของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ได้ดียิ่งขึ้น และเป็นที่ยอมรับของสังคมนั้น ๆ
– เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความสามารถและทักษะที่ชำนาญในการติดต่อ สื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม และร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับในรัฐที่ท่านพำนักอยู่เว็บไซต์ของสำนักงานด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรมรัฐเฮสเซิน

